
กีฬากลิ้งชีส ลงเขา กีฬาเสี่ยงชีวิตสุดขำของอังกฤษ
- J. Kanji
- 52 views
กีฬากลิ้งชีส ลงเขา อาจฟังดูเหมือนมุกตลก แต่ความจริงแล้ว นี่คือหนึ่งในประเพณีพื้นบ้าน ของอังกฤษที่ทั้งเก่าแก่ และเต็มไปด้วยสีสัน จนกลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพียงเพื่อความสนุก แต่ยังแฝงไปด้วยวัฒนธรรม เรื่องเล่า และจิตวิญญาณ ของชุมชนเล็ก ๆ ในเมืองที่ชื่อว่า Glouceste
สถานที่จัดการแข่งขัน ไม่ได้อยู่ในสนามกีฬาทันสมัย หรือเวทีระดับโลก แต่มันเกิดขึ้นที่ เนินเขาธรรมดา ๆ ที่ชื่อว่า Cooper’s Hill อยู่ในหมู่บ้าน Brockworth ใกล้เมือง Gloucester เนินนี้สูงประมาณ 200 เมตร และมีความชันแบบ ที่ทำให้คนต้อง “เบรกด้วยหลัง” แทนเท้า
ว่ากันว่ากีฬานี้ มีต้นกำเนิดย้อนไปไกล ถึงช่วงปลายศตวรรษที่ 18 หรืออาจจะนานกว่านั้น บางแหล่งเชื่อว่า มันเริ่มต้นจากพิธีกรรม ของชาวบ้าน ในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ที่ใช้การกลิ้งชีส หรือโยนของกินลงจากเขา เพื่อบูชาธรรมชาติ หรือขอพรให้เก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์ แม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัด ว่าใครเป็นคนเริ่ม
แต่ที่แน่ ๆ คือมันถูกส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่น จนกลายเป็นการแข่งขัน สุดโหดแห่งปี ถึงอย่างนั้น ความพิเศษของมัน อยู่ที่บรรยากาศที่อบอุ่น เหมือนงานวัดของชุมชน บางครอบครัวนั่งปูเสื่อดู บางคนพาลูกหลาน มาลองดูสักครั้งหนึ่งในชีวิต ไม่ใช่แค่สนามแข่ง แต่มันคือเวที รวมคนรักความมันทั่วโลก [1]
Double Gloucester คือชีสที่ใช้ในการแข่งขัน มีขนาดใหญ่ และกลิ้งได้ดี เพราะมันเป็นรูปทรงกลม แบบแฮนด์เมด มีน้ำหนักเกือบ 4 กิโลกรัม ชีสจะถูกปล่อย ก่อนคนหนึ่งวินาที และหลังจากนั้น ทุกคนก็ต้องวิ่งตามลงเขา แบบไม่มียั้ง เส้นทางไม่มีรั้วกัน ไม่มีพื้นยางรองรับ
ใครกลิ้งแรง ใครคุมตัวเองไม่อยู่ ก็มีสิทธิ์ลงไปนอน จบที่พุ่มไม้ด้านล่างการ “ชนะ” ไม่ได้แปลว่า ต้องจับชีสได้ แค่ไปถึงเส้นชัยก่อนคนอื่นก็พอ แต่นั่นก็ยังไม่ง่าย เพราะจะต้องสู้ทั้งแรงโน้มถ่วง แรงกระแทก และแรงฮาของคนดู [2]
อย่าเข้าใจผิด ว่าเป็นกีฬาน่ารัก ๆ เหมือน กีฬาแบกภรรยา วิ่งแข่ง เพราะในแต่ละปี มีทั้งคนหัวแตก แขนหัก หรือข้อเท้าพลิก บางคนถึงขั้นต้องใช้เปลหาม ลงจากเขาเลยทีเดียว แต่แปลกตรงที่ ยิ่งมันดูบ้า ยิ่งมีคนอยากลอง
ความรู้สึกของคนที่ได้เข้าร่วม เปรียบได้กับการท้าทายตัวเอง แบบสุดขีด มันไม่ใช่แค่เรื่องของชัยชนะ แต่มันคือประสบการณ์ ที่เล่าได้ไม่มีวันลืม ความเจ็บตัวก็เหมือนของแถม จากการได้ “มีเรื่องเล่าเท่ ๆ” ไว้โชว์เพื่อน
เบื้องหลังชีสกลิ้ง อาจดูเหมือนเรื่องเล่น ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันมีรากฐาน จากพิธีกรรมโบราณ ที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล และการเกษตร ชาวบ้านแต่ก่อนเชื่อว่า การปล่อยก้อนชีสกลิ้งลงเขา เป็นการจำลองการเคลื่อนไหว ของดวงอาทิตย์ เพื่อขอให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในปีนั้น
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานว่า มีการโยนอาหารลงเขา เพื่อเป็นของไหว้เทพเจ้า หรือผีป่า พอเวลาผ่านไป การบูชาก็เปลี่ยนรูปแบบ มาเป็นกิจกรรมเชิงสนุกสนาน แต่ความหมายลึก ๆ ว่าคือ “การเฉลิมฉลองชีวิต” ก็ยังอยู่
ทุกครั้งที่ชีสกลิ้งลงเขา เหมือนเป็นการปลดปล่อย พลังงานบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเสียงเชียร์ เสียงหัวเราะ หรือแม้กระทั่งเสียงล้มกลิ้ง ความเชื่อนั้น อาจจางหายไปตามเวลา แต่ความรู้สึกว่า “ชีวิตควรมีโมเมนต์บ้า ๆ บ้าง” ก็ยังชัดเจนอยู่เสมอ
เมื่อมีคนถ่ายวิดีโอแล้วลง YouTube หรือโซเชียลต่าง ๆ ก็ทำให้การแข่งขันนี้ กลายเป็นไวรัล และคนจากทั่วโลก ก็เริ่มสนใจ ในทุกปีจะมีนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติมาร่วมแข่ง แม้จะไม่เคยฝึกมาก่อน หรือไม่รู้จักกับใครในท้องถิ่น เช่น ทอม โคปเก้ จากเยอรมนี ที่ได้แชมป์การแข่งขันนี้ เมื่อปี 2024
และยังจะร่วมเข้าแข่งขันอีกครั้ง ในปี 2025 อีกด้วย [3] บรรยากาศของงาน ก็เปิดกว้างต้อนรับทุกคน เหมือนเพื่อนเก่า มันไม่ได้เป็นแค่กีฬา แต่กลายเป็นเครื่องมือเชื่อมโยง ผู้คนที่รักความสนุก กล้าท้าความเสี่ยง และพร้อมจะหัวเราะ แม้จะมีแผลฟกช้ำเต็มตัวก็ตาม
ผู้ชนะในแต่ละปี กลายเป็นเหมือนฮีโร่ท้องถิ่น คนในงานจะรู้จักชื่อ รู้ว่าเขาเคยล้มกี่ครั้ง กลิ้งกี่รอบ หรือแม้แต่โดนไม้พุ่มกินไปครึ่งทาง ก็ยังได้แชมป์มา บางคนกลายเป็นคนดัง ในโลกออนไลน์ทันที บางคนกลับมาแข่งปีแล้วปีเล่า เพราะรักบรรยากาศ บางคนมาแข่ง เพราะต้องการข้ามขีดจำกัดของตัวเอง
ทุกเรื่องราวเหล่านี้ ทำให้กีฬาเล็ก ๆ กลางเนินเขากลายเป็น “ตำนานของคนธรรมดา” ที่ยังเล่าได้ไม่รู้จบ ไม่ใช่แค่ความสนุกในวันแข่ง แต่ยังเป็นแรงบันดาลใจ ให้คนกล้าที่จะออกจาก comfort zone กล้าที่จะเจ็บตัว เพื่อความสุข และกล้าที่จะหัวเราะ ไปกับความเพี้ยนเล็ก ๆ ในชีวิต
กีฬากลิ้งชีส ลงเขา อาจดูเหมือนไม่มีสาระ ในสายตาบางคน แต่ความจริงแล้ว มันเต็มไปด้วยความสนุก ความกล้า และกลิ่นอายของวัฒนธรรม ที่สืบทอดกันมา อย่างยาวนาน มันสะท้อนให้เห็นว่า แม้โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน ประเพณีพื้นบ้านเล็ก ๆ ก็ยังคงมีพลัง ในการดึงดูดผู้คน ให้กล้ามากพอที่จะกลิ้ง
เมื่อก่อนทุกคน สามารถเข้าร่วมได้ ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน นักท่องเที่ยว หรือใครก็ตามที่กล้าลอง ขอแค่มีใจพร้อมลุย และพร้อมเจ็บ เพราะอยากน้อย ก็ได้มาเก็บประสบการณ์ ครั้งหนึ่งในชีวิต แต่ปัจจุบันมีข้อจำกัด เพิ่มขึ้นมาว่า ผู้เข้าร่วมจะต้องมีอายุ 18 ปีขึ้น
จริงๆ แล้วผู้เข้าแข่งควรจะต้อง เป็นคนที่มีสุภาพร่างกาย ที่แข็งแรง มีการฝึกซ้อม แต่ในสถานการณ์จริง คนส่วนใหญ่ ไม่มีการฝึกซ้อมจริงจัง ผู้เข้าร่วมแค่มากลิ้งตามใจ อยากชนะก็ต้องกลิ้งให้เร็ว แต่ถ้าแค่มาร่วมสนุก ก็ไม่ต้องคิดมาก ขอแค่อย่ากลัวเขา